เทคนิคการเรียบเรียงภาษา
1. หลีกเลี่ยงการเขียนวกไปวนมาโดยนำเสนอเป็นประเด็น และจัดลำดับ ตัวอย่างการนำเสนอ เช่น ประการที่หนึ่ง……………… ประการที่สอง…………………… ประการที่สาม…………………….. หรือ อาจใช้หมายเลขกำกับ เช่น 1)………………… 2)…………………. 3)…………………………. การนำเสนอโดยจัดลำดับเป็นประเด็นจะช่วยให้คนที่เขียนไม่คล่องจัดลำดับความคิดไม่ทันสามารถนำเสนอผลงานได้ง่ายโดยไม่ตกประเด็น และยังเป็นการตรวจสอบว่าเราเขียนประเด็นไหนตกไปบ้าง
2.การเรียบเรียงประเด็นและจัดลำดับตามข้อ 1. สามารถทำได้ทั้งการนำเสนอโดยแยกหัวข้อละประเด็น เช่น
ประการที่หนึ่ง…………………………………………………………...
………………………………………………………………………….
ประการที่สอง…………………… …………………………………….
…………………………………………………………………………..
ประการที่สาม…………………………………………………………...
………………………………………………………………………….
หรือ อาจนำเสนอโดยเรียงประเด็นและจัดลำดับแต่อยู่ในย่อหน้าเดียวกันก็ได้ ข้อดีของการจัดลำดับคือป้องกันการเขียนพันกันจากการเขียนประโยคยาว ๆ เพราะเมื่อมีหมายเลขกำกับจะช่วยเตือนความจำเราได้ว่าประเด็นไหนเขียนไปแล้วบ้าง
3. การใช้คำเชื่อมประโยค วลี “ที่” “ซึ่ง” “อัน” “ก็” “โดย” ระวังอย่าใช้คำเหล่านี้พร่ำเพรื่อ หรือหากจะใช้ก็ให้อยู่ห่าง ๆ กัน ตรวจภาษาอีกครั้งให้กระชับ ตัดข้อความที่ไม่จำเป็นเช่นคำว่า “ทำการ” “คำว่า” “เป็นต้น” “ที่” “ซึ่ง” “อัน” “ก็ซึ่ง” “โดยที่”
4.การใช้คำแสดงตัวอย่างมีให้ใช้หลายอย่าง “เช่น” “อาทิ” “กล่าวคือ” “ดังนี้” “ดังต่อไปนี้” สามารถใช้ได้หลากหลายครับไม่จำเป็นต้องใช้คำเดียวตลอดทั้งเล่ม
5.การใช้คำย่อของส่วนราชการ งานเขียนที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการมักจะใช้ชื่อเต็ม และมีคำย่อคู่กัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(สำนักงาน ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู(ก.ค.) หรือคำย่อชื่อตำแหน่งทางราชการ เช่น กระทรวงกลาโหม(กห.) ฯลฯ คำเหล่านี้เป็นศัพท์บัญญัติของทางราชการนักศึกษาที่ทำงานรับราชการมักไม่มีปัญหาการเขียน การใช้คำเต็มคำย่อแต่หากเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงราชการก็ต้องศึกษาไว้ครับหากต้องมีเนื้อหาอ้างอิงเกี่ยวข้องก็ต้องอ้างให้ถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบได้ที่เวปไซด์ต้นสังกัดของแต่ละหน่วยงาน
6. ใช้ภาษาในการเขียนให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ คือมีประธาน กริยา และกรรมของประธาน หรือคำขยายต่าง ๆ
7. การอ้างอิงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรแสดงสูตร และสมการคณิตศาสตร์การนำเสนอสูตรและสมการจำเป็นต้องพิมพ์ให้ชัดเจน มีลำดับขั้นตอนที่เหมาะสม
8. การนำเสนอตัวเลข หรือค่าสถิติในบทความ ควรพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนทั้งในขณะเขียน หรือขณะพิสูจน์อักษร เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด สิ่งสำคัญคือเรื่องการสะกดและคำเขียนผิดควรให้เพื่อน หรือใครก็ได้ช่วยอ่านทวนให้เพื่อตรวจสอบซ้ำไม่ให้มีคำสะกดผิดหลุดออกไปได้
9. เขียนให้อ่านแล้วเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่ง่าย การเขียนย่อหน้าที่เห็นแนวคิดหลักได้ชัดเจน การเขียนเนื้อความเป็นเหตุเป็นผล มีขั้นตอนไม่วกวน อย่างไรก็ดีแม้จะเขียนโดยใช้ภาษาง่ายต้องคำนึงว่าภาษาในงานวิจัยเป็นภาษาทางการอย่าใช้ภาษาพูดเข้าไปปน
10. ผู้เขียนมีเทคนิคเฉพาะตัวที่ใช้ตรวจสอบความกลมกลืนของเนื้อหาซึ่งเป็นเทคนิดที่ใช้ได้ผล ท่านผู้อ่านลงนำไปใช้ดูก็ได้ครับ ในระหว่างที่กำลังเขียนเมื่อต้องวิเคราะห์ข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ เมื่อวิเคราะห์ไปถึงจุด ๆ หนึ่งจะเกิดอาการตันทางความคิด วิเคราะห์ไม่ออกทั้งที่ข้อมูลก็มีพร้อม ผู้เขียนมีวิธีการแก้ปัญหาดังนี้
10.1 คิดไม่ออกให้หยุดพักชั่วคราวหาอะไรทำให้สมองปลอดโปร่ง
10.2 เนื้อความสำนวนภาษาตรงไหนยังไม่แน่ใจ หรือเรียบเรียงแล้วยังไม่ถูกใจก็ให้ทำแถบ “สีแดง” กำกับไว้ ทั้งนี้ผู้เขียนใช้ “สีแดง” ซึ่งหมายถึง “หยุด” หยุดในที่นี้คือหยุดไว้ก่อนคิดไม่ออกก็หยุดไว้ก่อน แม้ว่าจะไม่แน่ใจว่าสำนวนนี้ใช้ได้หรือไม่แต่อย่าลบข้อมูลนั้นนะครับ เพราะวันข้างหน้าอาจได้ใช้ประโยชน์อยู่ ข้อมูลต่าง ๆ จะลบได้ก็ต่อเมื่อทุกอย่างจบสิ้นแล้วเท่านั้น
10.3 เนื้อความสำนวนภาษาตรงไหนแน่ใจแล้วแต่ยังไม่แน่ใจอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้เขียนใช้แถบ “สีฟ้า” กำกับไว้ ผู้เขียนใช้ “สีฟ้า” แทนสีเขียวซึ่งหมายถึงผ่านตลอดเพราะตัวอักษรสีเขียวมองไม่เห็นครับ ความหมายของการใช้ “สีฟ้า” คือ สำนวนภาษาตรงนี้ยังก้ำกึ่ง ๆ อยู่จะใช้ได้แล้วก็ยังไม่ใช่ จะใช้ไม่ได้เลยก็ไม่ใช่ พูดง่าย ๆ คือเขียนไปก็ลังเลไปเลยใช้ “สีฟ้า” ไปก่อนครับ แต่อย่าลบทิ้งนะครับ
10.4 การตัดต่อข้อมูลหรือข้อความจากแฟ้มข้อมูล ในกรณีที่เป็นงานวิจัยหลายคนหรือวิจัยคนเดียวแต่ใช้คนพิมพ์งานหลายคน เมื่อต้องนำข้อมูลจากแฟ้มข้อมูลหลายแฟ้มมารวมเป็นแฟ้มงานอันเดียวกัน ให้กำหนดว่าต้องมีแฟ้มข้อมูลอันใดอันหนึ่งเป็นหลัก ส่วนแฟ้มข้อมูลอื่น ๆ ก็เป็นแฟ้มข้อมูลสำรอง เมื่อตัดต่อหรือย้ายข้อมูลจากแฟ้มข้อมูลใดมารวมกับแฟ้มข้อมูลหลักแล้ว ข้อมูลที่นำมาใช้แล้วให้ทำแถบสีกำกับไว้ด้วยเพื่อเตือนตัวเองให้ทราบว่าข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้แล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการนำข้อมูลอันเดียวกันไปใช้อ้างอิงซ้ำซาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น